หลังจากทะเลแดงได้สัมผัสกับความเงียบสงบอีกครั้ง ด้วยไม่มีรายงานการโจมตีหรือพยายามโจมตีเรือสินค้าจากกลุ่มติดอาวุธฮูตีในช่องแคบอีกเลย ตั้งแต่ในช่วงวันที่ 19 ธันวาคม จนก่อนถึงวันขึ้นปีใหม่ ทว่าราวว่าเป็นแผนที่วางเอาไว้ กลุ่มฮูตีโจมตีเรือของ Maersk ในวันขึ้นปีใหม่พอดิบพอดี นี่นับเป็นข่าวร้ายของ Shippers ทั่วโลก เพราะนอกจากจะรู้ตัวว่าหลังจากงานเลี้ยงฉลอง จะต้องเจอกับปัญหาสารพัดน่าปวดหัวแล้ว การโจมตีครั้งนี้ยังส่อแววให้เห็นว่าโอกาสที่ความไม่สงบนี้จะลุกลามนั้นนับได้ว่า “ค่อนข้างสูง” เลยทีเดียว

เช้าตรู่วันที่ 31 ธันวาคม 2023 เรือ Maersk Hangzhou เดินเรือผ่านช่องแคบ Bab al-Mandab มุ่งหน้าสู่คลองสุเอซ ถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธ และมีเรือไม่ระบุสัญชาติขนาดเล็ก 4 ลำพยายามโจมตีและขึ้นเรือ โดยสหรัฐอเมริกาตอบโต้ทันควันด้วยการส่ง Helicopters จากเรือรบบริเวณใกล้เคียง จมเรือได้ 3 ลำ สังหารกลุ่มฮูตีนับ 10 คน

จากเหตุการณ์นี้ Maersk ต้องประกาศกลับลำ ยกเลิกการเข้าทะเลแดงอีกครั้ง

หลังจากนั้น ก็ยังมีการโจมตีต่อเนื่องใส่เรืออีกหลายลำ ทั้งด้วยอาวุธปืน ขีปนาวุธ และอาวุธโดรน ซึ่งเชื่อว่าสนับสนุนโดยอิหร่าน ด้วยเหตุนี้ เหล่าสายเรือจึงจำเป็นต้องประกาศยกเลิกการเดินเรือในทะเลแดงอีกครั้ง สินค้าจากไทยที่จะไปยังตะวันออกกลาง ยุโรป แอฟริกาเหนือ รวมไปถึงสหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันออกบางส่วน ต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากที่ต้องกลับไปอ้อมแหลม Good Hope โดยค่าระวางจากไทยไปยุโรป พุ่งสูงถึง 3,000 – 5,000 เหรียญสหรัฐ รวมไปถึงผลกระทบอื่นๆ เช่น การขาดแคลนพื้นที่ระวางกลับมาอีกครั้ง การส่งผลต่อไปยัง Supply Chain ทั่วโลก ค่าน้ำมัน เงินเฟ้อ และแน่นอนว่าระยะเวลาการส่งสินค้าก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

โดยการส่งสินค้าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงยุโรปได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยความล่าช้าเพิ่มขึ้น 105% จากเทียบกับในช่วงกลางเดือนธันวาคมโดยเฉลี่ย 8 วัน เรือจากจีนไปยังยุโรปเสียเวลาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4 วัน และเรือจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังชายฝั่งตะวันออกสหรัฐฯ ล่าช้าไป 2.5 วัน

สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศเองก็ยังคงตึงเครียดต่อเนื่อง

อิหร่านส่งเรือรบของตนผ่านช่องแคบ Bab al-Mandab สู่พื้นที่ทะเลแดง ซึ่งไม่ได้ให้เหตุผลเฉพาะเจาะจงในการกระทำครั้งนี้ แต่แอบอ้างว่ามีกองเรือปฏิบัติการในพื้นที่นี้ตั้งแต่ช่วงปี 2009 เพื่อรักษาเส้นทางเดินเรือ ขับไล่โจรสลัด และเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ ส่งผลให้ความตึงเครียดในพื้นที่พุ่งทะยานสูงขึ้นไปอีก

อินเดียเองก็ส่งกองทัพเรือและอากาศยาน ลาดตระเวนในพื้นที่มหาสมุทรอินเดียตอนเหนือ ต่อเนื่องไปยังทะเลอาหรับตอนกลาง ซึ่งกองทัพเรืออินเดียแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่ามุ่งมั่นจะปกป้องความปลอดภัยของคนเดินเรือและผู้ประกอบการเดินเรือในภูมิภาค โดยเฉพาะนักเดินเรือสัญชาติอินเดียเอง ที่ปฎิบัติหน้าที่บนเรือสินค้าหลายลำในภูมิภาค รวมถึงทั่วทั้งโลก และยังกล่าวว่าจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมในการปฎิบัติการทางทหารใดๆหากมีความจำเป็น

นอกจากนี้ หลายฝ่ายก็ได้เรียกร้องให้สหประชาชาติเข้ามามีบทบาทในการจัดการปัญหาในภูมิภาค ซึ่งก็ได้มีการประชุมเข้มของเจ้าหน้าที่ระดับสูงใน UN ด้วยใจความสำคัญคือคุ้มกันเสถียรภาพห่วงโซ่อุปทานของทั้งโลก เสรีภาพการเดินเรือ และความปลอดภัยของนักเดินเรือ แต่ก็ยังหาข้อตกลงที่ไม่ได้ ณ ตอนนี้

ล่าสุด วันนี้ (5 มกราคม 2024) Operation Prosperity Guardian หรือ OPG ที่เป็นกลุ่มพันธมิตรเฉพาะกิจนำโดยอเมริกา ลงนามประกาศ Final Warning ร่วมกับชาติสมาชิก ไปยังกลุ่มฮูตีว่าให้หยุดการโจมตีที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายนี้ และชี้ว่ากลุ่มฮูตีจะต้องรับผิดชอบต่อผลที่ตามมาหากพวกเขายังคงคุกคามต่อชีวิต เศรษฐกิจโลก และการไหลเวียนของการค้าอย่างเสรีในเส้นทางน้ำที่สำคัญของโลก

และทันทีที่ประกาศออกไปไม่กี่ชั่วโมง กลุ่มฮูตีก็โจมตีเรืออีกรอบ

มิหนำซ้ำ ครานี้ยังเป็นการโจมตีโดยใช้อาวุธล้ำสมัย USV หรือยานผิวน้ำไร้คนขับ ที่เชื่อว่าได้รับการสนับสนุนโดยอิหร่าน โดยกองทัพเรือสหรัฐฯ สามารถสกัดกั้นเอาไว้ได้ ขณะที่ USV ดังกล่าวกำลังมุ่งหน้าเข้าหาเรือรบและสินค้าสัญชาติสหรัฐฯ

โดยสหรัฐฯ เอง ยังมีทีท่าชัดเจนว่าไม่ต้องการให้มีความตึงเครียดปะทุขึ้นกับอิหร่าน แต่ได้ตอกย้ำถึงข้อเรียกร้องสำคัญว่าขอให้อิหร่านหยุดการสนับสนุน ทั้งกำลังทรัพย์และอาวุธให้กับกลุ่มฮูตี และคืนความสงบในภูมิภาคโดยเร็ว ซึ่งอิหร่านเองปฏิเสธข้อกล่าวหาว่ามีความเกี่ยวข้องหรือมีการสนับสนุนใดๆ

ในขณะที่อีกฝากโพ้นทะเล ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ก็พุ่งขึ้นอีกรอบ

ฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ เปิดปฎิบัติการซ้อมรบในพื้นที่ทะเลจีนใต้อีกครั้ง ซึ่งเป็นน่านน้ำที่ยังคงเป็นข้อพิพาทระหว่างจีนกับประเทศใกล้เคียง นับเป็นการแสดงออกของฟิลิปปินส์ถึงการต่อต้านการอ้างสิทธิเหนือน่านน้ำของจีนด้วยการกระชับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯและประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นในทะเลจีนใต้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน หวัง อี้ ได้ออกคำเตือนเมื่อเดือนที่แล้วเกี่ยวกับสถานะความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ระหว่างมะนิลาและปักกิ่ง

เมื่อเทียบกันแล้ว แม้ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้จะดูยืดยาวกว่า และอาจไม่ได้รุนแรงเท่า อาจไม่ได้มีการปะทะบนน่านน้ำ หรือสายเรือต้องมีการเปลี่ยนเส้นทางเหมือนพื้นที่ทะเลแดง แต่อาจจะส่งผลต่อความต่อเนื่องและอำนาจของกองกำลัง OPG ที่ปัจจุบันแม้จะมีชาติสมาชิกอย่างเป็นทางการนับสิบราย แต่สหรัฐฯ เองก็ยังพยายามโน้มน้าวจีนให้เข้าร่วมอยู่ นอกจากนี้จีนยังมีความสัมพันธ์อันดีกับอิหร่าน และอาจตัดสินใจไม่เข้าร่วม OPG เลยก็เป็นได้

หรือเลวร้ายที่สุด คือการแบ่งฝั่งของบรรดาชาติมหาอำนาจ ระหว่างฝ่ายสหรัฐฯและชาติพันธมิตร และฝ่ายอิหร่านและจีน

ซึ่งสิ่งที่เราทำได้ ณ ตอนนี้ คงมีเพียงแค่คอยติดตามและภาวนาให้เหตุการณ์สงบโดยเร็ว รวมไปถึงความขัดแย้งในฉนวนกาซาด้วย

.

ติดตามสถานการณ์การขนส่งสินค้าทางทะเลได้ที่ Website, Weekly Report และ Social Media ทุกช่องทางของสรท.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *