สรุปสถานการณ์ปัญหาเรือ Ever Given ขวางคลองสุเอซ (วันที่ 27 มีนาคม 2564)

รายชื่อเรือบรรทุกสินค้าคอนเทนเนอร์ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เรือ Ever Given ขวางคลองสุเอซ

ตัวแทนของ Suez Canal Leth Agencies ได้ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้มีเรือ 156 ลำกำลังรอการขนส่งข้ามคลอง โดยเรือ 48 ลำรออยู่ที่ Port Said และมีเรืออีกจำนวน 38 ลำได้รอคอยในบริเวณจุดกึ่งกลางทะเลสาบ Great Bitter และอีก 70 ลำที่ได้มีการทอดสมอที่ท่าเรือ    สุเอซ โดยแหล่งข่าวของ Ocean Insight ได้มีการเปิดเผยรายชื่อเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ ที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจาก เหตุการณ์เรือ  Ever  Given เกยขวางคลอง ซึ่งจะทำให้ตู้สินค้าในเรือเกิดความล่าช้าได้ โดยมีเรือบรรทุกตู้สินค้าที่ได้รับผลกระทบจำนวนทั้งสิ้น 63 ลำ มีปริมาณตู้คอนเทนเนอร์รวม 727,764 TEUs ซึ่งแบ่งเป็น 

  • West Bound : เรือคอนเทนเนอร์ที่มุ่งหน้าจากทางประเทศทางฝั่งเอเชีย และประเทศด้านใต้ของตะวันออกกลาง เพื่อไปยังฝั่งยุโรป โดยมีเรือคอนเทนเนอร์จอดรอคอยทางฝั่งทะเลแดง มีจำนวนทั้งสิ้น 21 ลำ และมีปริมาณตู้คอนเทนเนอร์รวม 255,600 TEUs
  • East Bound : เรือคอนเทนเนอร์ที่มุ่งหน้าจากฝั่งยุโรป เพื่อจะมายังเอเชีย มีจำนวนเรือคอนเทนเนอร์ที่ตกค้างจำนวนทั้งสิ้น 42 ลำ และมีปริมาณตู้คอนเทนเนอร์รวมจำนวนกว่า 472,164 TEUs

โดยมีรายชื่อสายเรือ ,ปริมาณบรรทุก ปรากฏดังตาราง

ทั้งนี้ ในเบื้องต้น สรท. แนะนำให้ท่านสมาชิกผู้ส่งออก/ผู้นำเข้า ตรวจสอบสินค้าของท่าน ได้ขนส่งไปกับเรือคอนเทนเนอร์ตามรายชื่อเรือที่ปรากฏในตาราง โดยหากสินค้าของท่านได้ขนส่งไปกับเรือดังกล่าว ให้ดำเนินการติดต่อประสานกับบริษัทตัวแทนสายเรือ เพื่อสอบถามสถานะของตู้ และหารือถึงแนวทางการจัดการกับตู้สินค้าของท่านต่อไป

ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังเร่งดำเนินการที่จะผลักดันเรือ Ever Given ที่จอดในลักษณะขวางคลอง ให้ออกจากพื้นที่เพื่อเปิดทางให้เรืออื่นๆ สามารถผ่านคลองได้ แต่ทั้งนี้ เนื่องจากเรือ Ever Given เป็นเรือบรรทุกที่มีขนาดใหญ่ และมีน้ำหนักมาก ดังนั้นการที่จะนำเรือออกไปอาจต้องใช้เวลา และต้องใช้วิธีการหลายแนวทางร่วมกัน อาทิ การใช้เรือขุดโคลน และทรายที่หัวเรือเข้าไปติดอยู่ , การใช้เรือจูงเข้ามาช่วยลาก , การทำให้เรือมีน้ำหนักเบาลงเพื่อให้เรือสามารถลอยได้ และสะดวกต่อการเคลื่อนย้าย เช่นการขนย้ายตู้สินค้าออกจากเรือ หรือการนำน้ำมันบางส่วนออกไป เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีความไม่ชัดเจนว่า สายเรือจะประกาศความเสียหายดังกล่าวให้เป็น General Average (GA) หรือไม่ ซึ่งหากสายเรือประกาศให้เป็น GA แล้ว ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการกู้ภัย เจ้าของเรือและเจ้าของสินค้า จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน อย่างไรก็ตามขณะนี้ บริษัทสายเรือหลายสาย ได้เริ่มหารือเพื่อพิจารณาแนวทางการขนส่งสินค้าระหว่างเอเชีย กับยุโรป โดยอ้อมแหลม กู้ดโฮป ปลายสุดของทวีปแอฟริกาแทน หากมองว่าการกู้เรือ Ever Given จะใช้เวลายาวนาน ซึ่งหมายถึงระยะเวลาในการขนส่งสินค้าระหว่างเอเชีย และยุโรป จะต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น 1-2 สัปดาห์ 

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ดังกล่าว สรท. ได้วิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้น ซึ่งสรุปได้ ดังนี้

  1. ทำให้ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ในปัจจุบันทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยมีปริมาณตู้คอนเทนเนอร์อย่างน้อย จำนวนกว่า 700,000 TEUs ที่อยู่บนเรือที่ตกค้างนั้น จะประสบปัญหาล่าช้าทำให้วงรอบของการหมุนตู้เพื่อใช้สำหรับการส่งออกนำเข้ายาวนานขึ้นไป ซึ่งยังไม่รวมถึง ในกรณีที่เรือจะต้องวิ่งลงไปทางแอฟริกา จะทำให้วงรอบของการหมุนเวียนตู้คอนเทนเนอร์กลับเข้ามาในระบบใช้เวลายาวนานขึ้น
  2. อาจส่งผลกระทบต่อการปรับเพิ่มขึ้นของค่าระวางเรือ (Spot Rate) และอาจมีการปรับเพิ่มค่า Surcharge ในบางรายการ อาทิ Bunker Adjustment Factor (BAF) รวมถึงการปรับเพิ่มค่าเชื้อเพลิง Low Sulphur Surcharge (LSS) เนื่องจากราคาน้ำมันมีการปรับตัวขึ้นจากการ Supply น้ำมันที่ช้าลง รวมถึงหากมีการปรับตารางการเดินเรือเพื่ออ้อมลงมาทางแอฟริกา ซึ่งจะทำให้เรือมีต้นทุนเรื่องน้ำมันเพิ่มขึ้น จะส่งผลทำให้ปัญหาเรื่องค่าระวางเรือที่สูงในปัจจุบันทวีความรุนแรงขึ้นตามมา จากเดิมที่มีการประเมินว่าค่าระวางอาจคงที่ในระดับสูง และมีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อย แต่อาจกลายเป็นการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงไตรมาส 3 และ 4 ได้ หากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขได้ในเร็ววัน นอกจากนี้หากสายเรือประกาศ GA ผู้ส่งออก และผู้นำเข้า ก็จะมีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีก
  3. เส้นทางการขนส่งผ่านคลองสุเอซ เป็นเส้นทางหลักของการขนส่งน้ำมัน และน้ำมันดิบ ซึ่งหากสามารถแก้ไขให้กลับมาใช้เส้นทางได้เร็ว อาจส่งผลกระทบต่อการปรับขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกในช่วงสั้นๆ แต่ทั้งนี้ สำหรับราคาน้ำมันในประเทศไทย อาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง ซึ่งจะใช้การขนส่งผ่านประเทศสิงคโปร์มายังประเทศไทย จึงไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องของเส้นทาง 
  4. ผลกระทบต่อเนื่องที่อาจเกิดขึ้นตามมา คือ ปัญหาความแออัดของท่าเรือในบริเวณดังกล่าว อาทิ Port Said ในอียิปต์ หรือส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงตารางการเดินเรือ และ Transit Time เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางการวิ่ง 
  5. สำหรับขอบเขตความรับผิดชอบต่อความเสียหายของสินค้า นั้นจะ ขึ้นอยู่กับ Term การค้า โดยหากเป็นเทอม FOB ผู้ส่งออกไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น เนื่องจากภาระของผู้ส่งออกสิ้นสุดตั้งแต่สินค้าพ้นกาบเรือไปแล้ว แต่หากเป็นการขายสินค้าในเทอม CIF แล้วความรับผิดชอบของสินค้ายังคงเป็นของผู้ส่งออก ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว อาจต้องรอความชัดเจนเกี่ยวกับสาเหตุ และรอการประกาศของสายเรือ เพื่อพิจารณาขอบเขตความรับผิดชอบของประกันภัย ร่วมด้วย 
  6. หากการดำเนินการแก้ไขปัญหากินเวลายืดเยื้อหลายสัปดาห์  อาจจะส่งผลกระทบต่อเครือข่ายซัพพลายเชนในกระบวนการผลิต และส่งผลกระทบต่อการค้าของโลกได้

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์ข่าว The Loadstar, Ocean Insight และ Shipping Lloyd’s List, กรุงเทพธุรกิจ

——————————–

ข้อมูล ณ วันที่ 27 มีนาคม 2564 เวลา 13.00 น.

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *