สรุปสถานการณ์ปัญหาเรือ Ever Given ขวางคลองสุเอซ (วันที่ 26 มีนาคม 2564)

เรือ Ever Given ซึ่งถือธงประเทศปานามา เป็นเรือสินค้าขนาด 220,000 ตัน โดยขนส่งสินค้าระหว่างเอเชียและยุโรป แล่นเข้าคลองสุเอซเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้เกยฝั่งและเกิดการขยับของตัวเรือจนขวางลำคลองไว้จนมิดซึ่งบริษัท เอฟเวอร์กรีน มารีน คอร์ป (Evergreen Marine Corp) ของไต้หวัน ซึ่งเป็นบริษัทดูแลการแล่นเรือลำนี้ระบุว่า เรือถูกลมแรงพัดกระหน่ำตั้งแต่แล่นจากทะเลแดงเข้ามาในคลอง ซึ่งเรือ Ever Given ออกเดินทางมาจากท่าเรือเมืองหนิงโป ทางภาคตะวันออกของจีนเมื่อ 4 มีนาคม และกำหนดถึงปลายทาง ท่าเรือเมือง Rotterdam ของเนเธอร์แลนด์ในวันที่ 31 มีนาคม แต่มาเกิดเหตุเกยตื้นเข้าเสียก่อน จากเหตุดังกล่าวทำให้เรืออย่างน้อย 170 ลำไม่สามารถเดินทางผ่านช่องนี้ได้ และจากรายงานที่เราได้รับแยกเป็นเรือประเภทต่างๆ ดังนี้ 

  • เรือบรรทุกสินค้า (Bulk Carrier) 40 ลำ
  • เรือคอนเทนเนอร์ (Container) 35 ลำ
  • เรือคาร์โก้ทั่วไป (General Cargo) 32 ลำ
  • เรือน้ำมันดิบ (Crude Oil) 17 ลำ
  • เรือปิโตรเคมี (Chemical Products) 17 ลำ
  • เรือน้ำมันสำเร็จรูป (Oil Products) 15 ลำ
  • เรือ LPG 10 ลำ
  • เรือปศุสัตว์ (Livestock) 8 ลำ

 หลังเกิดเหตุ The Suez Canal Authority (SCA) ส่งเรือโยงหลายลำเข้าช่วยดันเรือ Ever Given ให้กลับสู่แนวปกติ เพื่อเปิดโอกาสให้เรือขนส่งอีกหลายลำจากฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลแดงที่รออยู่ สามารถแล่นเข้าคลองได้อีกครั้ง โดยได้มีการคาดการณ์ว่าการแก้ไขปัญหานี้อาจจะใช้เวลาอย่างน้อย 2 วัน ซึ่งจะต้องรอระดับน้ำขึ้นสูงเพื่อให้การเคลื่อนย้ายเรือดังกล่าวออกจากแนวคลอง  

นอกจากนี้ รายงานข่าวระบุว่า คลองสุเอซคือเส้นทางขนส่งสินค้าที่มีสัดส่วนราว 12% ของการขนส่งทั่วโลก และมีความสำคัญมากสำหรับการขนส่งน้ำมัน ซึ่งเหตุการณ์เรือขวางคลองสุเอซในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าทางน้ำระหว่างทะเลเมดิเตอร์
เรเนียน และทะเลแดง 

สำหรับสินค้าที่ผ่านเส้นทาง Suez Canal ในส่วนของประเทศไทยนั้น  ส่วนใหญ่จะมีปลายทางอยู่ที่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป รัสเซีย โดยสินค้าสำคัญของไทยที่ส่งออกไปยุโรป อาทิ คอมพิวเตอร์ รถยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและขิ้นส่วน (ยกเว้นน้ำมัน)

ผลกระทบ และความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

  • โดยเฉลี่ยในแต่ละวันจะมีเรือขนส่งราว 50 ลำแล่นผ่านคลอง ดังนั้น การที่คลองปิดอาจส่งผลกระทบทำให้การขนส่งอาหาร น้ำมันและสินค้าต่างๆ ระหว่างยุโรปและตะวันออก ต้องหยุดชะงักไปด้วย และอาจส่งผลกระทบทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น และทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างเอเชีย กับยุโรป มีความล่าช้าออกไป
  • ในระยะสั้น จะส่งผลทำให้สินค้าที่ขนส่งในเส้นทางที่ผ่านคลองสุเอซ ได้รับความล่าช้า แม้ว่า SCA จะทำการเคลียร์เรือออกไปได้แล้ว ในช่วงแรกๆ อาจทำให้เกิดปัญหาติดขัดเนื่องจากการกระจุกตัวของเรือที่ค้างอยู่ ทำให้การขนส่งสินค้าทางเรือเกิดการ Delay นอกจากนี้ จะส่งผลกระทบทำให้ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ที่ขาดแคลนอยู่ ณ ขณะนี้ ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าเรือบรรทุกคอนเทนเนอร์จำนวน 35 ลำทีไม่สามารถแล่นผ่านคลองสุเอซได้ ดังนั้นหากคำนวณจำนวนตู้คอนเทนเนอร์โดยคร่าว ที่บรรทุกในเรือดังกล่าว จะมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 600,000 – 700,000 TEUs (ประมาณการณ์ว่าเรือคอนเทนเนอร์ 1 ลำบรรทุกตุ้คอนเทนเนอร์ได้ 20,000 TEUs)
  • หากกระบวนการแก้ปัญหาของ The Suez Canal Authority (SCA) ล่าช้าออกไป และใช้เวลาเนิ่นนานในการแก้ปัญหาดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้า โดยสายเรืออาจต้องพิจารณา เปลี่ยนไปขนส่งสินค้าผ่านแหลมกูดโฮปทางใต้สุดของทวีปแอฟริกา เพื่อให้ยังสามารถขนส่งสินค้าได้ ซึ่งสายเรือจะมีต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้น และใช้ระยะเวลาในการขนส่งเพิ่มขึ้น 10-15  วัน

ข้อเสนอแนะสำหรับสมาชิกผู้ส่งออก/นำเข้า

  1. หากสงสัยว่าตู้สินค้าของท่านอาจอยู่บนเรือลำดังกล่าว หรือมีการส่งออกสินค้าที่จะต้องผ่านคลองสุเอซ และอาจได้รับผลกระทบ ในเรื่องความล่าช้า ขอให้ประสานกับสายเรือ เพื่อสอบถามสถานะตู้ และแจ้งลูกค้าปลายทางให้ทราบ เนื่องจากสินค้าจะไปถึงลูกค้าปลายทางล่าช้ากว่ากำหนด
  2. จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้เกิดปัญหา Congestion ของท่าเรือต่างๆ และทำให้เกิดการ Delay ของเรือ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ Schedule เรือโดยตรง ดังนั้น หากสมาชิกมีกำหนดจะส่งสินค้าไปยัง ยุโรป หรือ US ฝั่ง East Coast ให้ตรวจเช็คตารางเรือกับสายเรือที่ให้บริการ
  3. เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว เป็นเหตุสุดวิสัยเนื่องจากทัศนวิสัยที่ไม่ดี ดังนั้น ความล่าช้าของการขนส่งจากที่เกิดขึ้น อาจไม่สามารถเรียกร้องความเสียหายกับสายเรือได้  แต่หากผู้ส่งออก/นำเข้า มีการทำประกันภัยสินค้า ซึ่งครอบคลุมความเสียหายในกรณีที่สินค้า Delay ก็สามารถติดต่อประกันภัยให้เข้ามาดูแล และรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปัญหาการขนส่งล่าช้าได้

ข้อมูลจากสายเรือ

  • สายเรือ Evergreen ซึ่งเป็นเจ้าของเรือ Ever Given ได้ออกประกาศแจ้งความคืบหน้าเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา โดยล่าสุดได้มีการส่งทีมกู้ภัยที่เชี่ยวชาญ 2 ทีม เข้าไปดำเนินการ โดยเป็นทีมของเนเธอร์แลนด์ (Smit Salvage) และทีมจากญี่ปุ่น (Nippon Salvage) เพื่อเร่งดำเนินการร่วมกับ Suez Canal Authority เพื่อวางแผนในการกู้เรือโดยเร่งด่วน 
  • สายเรือ Maersk ได้ออกประกาศแจ้งสถานะของเรือ Maersk ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าว โดยจะมีการแจ้งให้ผู้ส่งออกทราบถึงตารางเรือที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงแจ้งทางเลือกในการขนส่งให้ผู้ส่งออกทราบ
Rotation NameOperatorVessel NamePrevious TerminalNext terminalStatus
755TP12MSKGUNDE MAERSKNewarkSalalahStuck in Canal
600MECLMSKMAERSK DENVERSalalahAlgecirasStuck in Canal
751 TP11MSKMAERSK SAIGONSavannahTanjung PelepasStuck in Canal
435 AE1-TP6MSKMAERSK ESMERAL-DASTangierSalalahStuck in Canal
404-ME3MSKSANTA CRUZJeddahPort Said EastAwaiting at anchorage
600 MECLMSKMAERSK SELETARPort Said EastDjiboutiAwaiting at anchorage
442 AE12MSKMAERSK HANOIPort Said EastKing AbdullahAwaiting at anchorage

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. แหล่งข่าวต่างประเทศ : Lloyd’s List Bulletin, JOC , สำนักข่าว Associated Press
  2. แหล่งข่าวไทย : สายเรือ Evergreen (Thailand), สายเรือ Maersk (Thailand) , สายเรือ ONE ประเทศไทย, สำนักข่าว TNN

——————————–

ข้อมูล ณ วันที่ 26 มีนาคม 2564 เวลา 13.00 น.

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *