สรท. เข้าร่วมการประชุมหารือระหว่างปลัดกระทรวงพาณิชย์และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่ากระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกรวมถึงการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการ SMEs

คุณกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธาน สรท. ดร.เนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย เหรัญญิก และคุณสุภาพ สุวรรณพิมลกุล กรรมการ สรท. ได้เข้าร่วมการประชุมหารือระหว่างปลัดกระทรวงพาณิชย์และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ประเด็นสืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนกระทรวงพาณิชย์ ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา เพื่อติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่ากระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกรวมถึงการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการ SMEs ทั้งนี้ สรท. ได้นำเสนอประเด็นอุปสรรคและข้อเสนอแนะ ดังนี้

  1. การจัดตั้งกองทุนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือ SMEs ในการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อในการลงทุนเครื่องจักรและวัตถุดิบ เนื่องจากปัจจุบัน BOI ให้การส่งเสริมการลงทุน โดยจะเน้นกลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve และกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีเทคโนโลยีหรือมีนวัตกรรมที่ทันสมัย จนทำให้เงื่อนไขต่างๆ สำหรับกลุ่มธุรกิจเดิมที่ต้องการจะขยายกำลังการผลิตถูกลดทอนลงไป รวมไปถึงกลุ่ม SMEs & Startup ที่ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขในการส่งเสริมจาก BOI
  2. สนับสนุนการออกไปลงทุนของกลุ่มกองทุน กบข./กองทุนประกันสังคม/หรือกลุ่มธุรกิจที่มีเม็ดเงินพร้อมจะออกไปลงทุน เพื่อลดแรงกดดันของค่าเงินบาทและลดความเข้มงวดของกฎเกณฑ์ข้อจำกัดในการกำหนดรูปแบบสินทรัพย์การลงทุนของหน่วยกำกับดูแลกองทุนนั้นๆ ประกอบกับ Ceiling ของการนำเม็ดเงินออกไปลงทุนนอกประเทศของกลุ่มกองทุน Sovereign fund ยังมีอีกค่อนข้างมาก 
  3. สนับสนุนกรมสรรพากร ให้เงื่อนไขสิทธิประโยชน์ทางทางภาษีต่อเนื่อง อาทิ Tax credit / Tax holiday แก่ผู้ประกอบการในกรณีการลงทุนในเครื่องจักรใหม่
  4. ข้อกังวลในเรื่องการยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ที่ต้องประเมินภาษีที่ต้องเสียช่วงกลางปี เป็นอุปสรรคแก่ผู้ประกอบการเนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้การประมาณกำไรค่อนข้างผันผวน รวมถึงการเสียค่าปรับต่างๆ เพิ่มเติมกรณีประมาณกำไรคาดเคลื่อนมากกว่าร้อยละ 25
  5. สนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยออกไปตั้งสาขาในต่างประเทศมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนหรือผู้ประกอบการไทยในการดำเนินธุรกรรมทางการเงิน  
  6. กระทรวงพาณิชย์และหน่วงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการในเรื่อง การขาดแคลนตู้สินค้าเพื่อการส่งออก ส่งผลต่อการส่งออกของไทยที่หดตัวมากกว่าที่ควรจะเป็น และแนวโน้มจำนวนตู้สินค้า Throughput ของไทยที่น้อยกว่าประเทศคู่แข่ง อาทิ เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *