เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 คุณสมบัติ เปรมประภา รองประธานสรท. ได้เข้าร่วมงานสัมมนา “การสำรวจและจัดทำดัชนีตัวชี้วัดด้านดิจิทัลของประเทศไทย ปี 2563 Thailand Digital Outlook 2020” ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 2 โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โดยมีคุณวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เป็นประธาน ทั้งนี้ สดช.ได้นำเสนอผลการดำเนินโครงการ Thailand Digital Outlook ระยะที่ 2 ที่มีเป้าหมายสำคัญเพื่อสำรวจและศึกษาสถานภาพปัจจุบันด้านการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศไทย หรือ Thailand Digital Outlook อันจะนำไปสู่การจัดเตรียมการและข้อเสนอแนะเพื่อปฏิรูประบบดิจิทัลและการดำเนินนโยบายและมาตรการการพัฒนาด้านดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป ซึ่งเป็นการต่อยอดจากโครงการระยะแรก ซึ่งได้ขยายขอบเขตการรวบรวมผลสำรวจ และวิเคราะห์ข้อมูลตัวชี้วัดตามกรอบ OECD โดยมีบริษัท ไทม์ คอนซัลทิ้ง จำกัด เป็นที่ปรึกษาโครงการ มีสาระสำคัญ ดังนี้

1) กรอบแนวทางการประเมินผลจากการดำเนินนโยบายด้านดิจิทัลตามองค์การ OECD เช่น กรอบ OECD Measuring the Digital Transformation และกรอบ OECD Going Digital Toolkit ที่ครอบคลุมมิติการประเมินออกเป็น 8 มิติได้แก่ 1) การเข้าถึง (Access) 2) การใช้งาน (Use) 3) นวัตกรรม (Innovation) 4) อาชีพ (Jobs) 5) สังคม (Society) 6) ความน่าเชื่อถือ (Trust) 7) การเปิดเสรีของตลาด (Market Openness) และ 8) การเติบโตและสภาพความเป็นอยู่ (Growth & Well-being)

2) ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้ทำการสำรวจกับกลุ่มตัวอย่างบุคคลทั่วไปและบริษัท ทั้งวิธีการออนไลน์และออฟไลน์ แบ่งเป็น แบบสำรวจที่เป็นบุคคลทั่วไป มีทั้งสิ้น 32,967 คน และผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นบริษัท 3,178 ตัวอย่าง 

  • แบบสำรวจที่เป็นบุคคลทั่วไป พบว่า 1) ผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 37.7% มีการสั่งซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ โดยสินค้าและบริการที่เป็นที่นิยมมากที่สุด ได้แก่ อุปกรณ์สวมใส่ สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องสำอาง บริการสั่งอาหาร และบริการรับ-ส่งพัสดุ 2) 10 จังหวัดที่มีสัดส่วนผู้ใช้ E-commerce สูงสุด ได้แก่ ชลบุรี กทม. นครราชสีมา นนทบุรี และสงขลา ตามลำดับ 3) วิธีการชำระเงินในการซื้อสินค้า/บริการออนไลน์ ที่นิยมมากที่สุด ได้แก่ การโอนเงินผ่านแอปพลิเคชันธนาคารและเก็บเงินปลายทาง
  • แบบสำรวจที่เป็นบริษัท พบว่า 1) ร้อยละ 29.9 ของบริษัทผู้ตอบมีการจัดจำหน่ายสินค้า/บริการผ่านออนไลน์ ซึ่งโควิดส่งผลให้หลายบริษัทต้องปรับตัวสู่การค้าออนไลน์มากขึ้น และใช้สื่อสังคมออนไลน์  เว็บไซด์ของบริษัท เป็นช่องทางหลักในการขายสินค้าออนไลน์ 2) ภาคธุรกิจมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อรักษาความปลอดภัยด้านข้อมูลเป็นสัดส่วนสูงสุด แต่ในขณะเดียวกันกลับมีการใช้ Cloud และ Data Analytics ในสัดส่วนที่น้อย โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก เนื่องจากขาดเงินลงทุน 3)  ร้อยละ 20.8 ของผู้ประกอบการออนไลน์ที่มีการส่งออกสินค้าไทยนั้น พบว่า 3 สินค้าที่ได้มีการส่งออกผ่านช่องทางออนไลน์มากที่สุด ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม  ผลิตภัณฑ์ความงามและสุขภาพ  สินค้าอะไหล่ยานยนตร์ ตามลำดับ 4) ธุรกิจที่พักและการโรงแรม ภาคการผลิตขนาดใหญ่ เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม เป็นต้น รวมถึงภาคบริการอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจก่อสร้าง ถือเป็นกลุ่มที่มีการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากที่สุดของประเทศ 
  • ในปี 2562 พบว่าประเทศไทยมีการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารคิดเป็นมูลค่า 258,311 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.53 ต่อจีดีพี โดยมีการลงทุนมากที่สุด ได้แก่ 1) อุปกรณ์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์มีมูลค่า 23,329 ล้านบาทหรือคิดเป็น ร้อยละ 0.14 ต่อจีดีพี 2) การลงทุนในกิจการโทรคมนาคมมีมูลค่า 180,324 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.07 ต่อจีดีพี 3) การลงทุนในซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์และฐานข้อมูลมีมูลค่า 54,640 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 0.32 ต่อจีดีพี
  • มูลค่าการลงทุนต่อจีดีพี และการใช้จ่ายด้าน R&D ต่อจีดีพีในอุตสาหกรรม ICT ไทยยังมีสัดส่วนที่ต่ำหากเทียบกับประเทศในกลุม OECD (ไทย 0.08% / OECD 0.39%)
  • ร้อยละของแรงงานที่ทำงานในตำแหน่งด้าน ICT ของไทยนั้นอยู่ในระดับต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศ OECD (ไทย 3.5% / OECD 48.8%)

แนวทางและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากที่ปรึกษาโครงการฯ

  1. การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้เข้าถึงและราคาบริการอินเทอร์เน็ตที่เหมาะสม
  2. การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศควรได้รับการสนับสนุนเพื่อพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมมากขึ้น เช่น พัฒนาโปรแกรมและให้ทุนสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของ SME
  3. สนับสนุนโครงการที่ช่วยเพิ่มจำนวนแรงงานด้าน ICT ที่เป็นส่วนสำคัญให้กลุ่มธุรกิจสามารถจ้างแรงงานกลุ่มนี้ได้มากขึ้น
  4. สร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก

ท่านสมาชิกสามารถดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มได้ตาม QR CODE

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *