เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 เวลา 06:35 น. ได้เกิดเหตุตู้บรรจุสินค้าระเบิดบนเรือ  KMTC Hongkong ซึ่งเรือดังกล่าวจอดเทียบที่ท่าเรือไทยแหลมฉบังเทอร์มินอล หรือท่า A2 จากการตรวจสอบข้อมูลทราบว่า เรือดังกล่าวมีตู้สินค้าที่ขนส่งมากับเรือทั้งสิ้น 674 ตู้ โดยแยกเป็นตู้สินค้านำเข้าที่ท่าเรือแหลมฉบังจำนวน 463 ตู้ และตู้ที่ไปลงที่ท่าเรือ Unithai จำนวน 184  ตู้ และส่วนที่เหลืออีกจำนวน 27 ตู้ เป็นตู้ที่จะไปลงที่ท่าเรือโฮจิมินทร์ประเทศเวียดนามต่อไป 

ทั้งนี้ขณะเกิดเหตุ ตู้สินค้าที่ลงท่าเรือแหลมฉบังได้ทำการยกขนแล้วเสร็จจำนวน 428 ตู้ และยังอยู่บนเรืออีก 35 ตู้ กล่าวโดยสรุป มีจำนวนตู้สินค้าทั้งสิ้น 246 ตู้ที่อยู่บนเรือขณะเกิดเหตุระเบิด อย่างไรก็ตามทางท่าเรือแหลมฉบังฯ ได้แจ้งเกี่ยวกับหลักปฏิบัติของการนำสินค้าเข้ามายังท่าเรือแหลมฉบัง โดยหากเป็นตู้สินค้าที่เป็นสินค้าอันตรายจะต้องนำตู้สินค้าดังกล่าวลงจากเรือเป็นลำดับแรก และเคลื่อนย้ายไปเก็บที่คลังสินค้า JWD ทันที ดังนั้นสำหรับการนำเข้าในครั้งนี้ ตู้สินค้าที่ได้รับแจ้งว่าเป็นสินค้าอันตรายที่จะต้องลงท่าเรือแหลมฉบังนั้น นั้นได้ถูก Discharge ลงหมดแล้ว

จากข้อมูลล่าสุดได้รับการยืนยันจากสายเรือ KMTC Hong Kong ว่าตู้สินค้าที่เกิดเพลิงลุกไหม้นั้นเป็นตู้สินค้าที่บรรจุสาร Calcium Hypochlorite UN1748 Class 5.1 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 13 ตู้ โดยสารเคมีดังกล่าวเป็นสารผสมหลักของผลิตภัณฑ์ผงฟอกขาวใช้ในการปรับสภาพผ้า ใช้เป็สารเคมีฟอกสี โดยตู้สินค้าดังกล่าวไม่ได้เป็นตู้ที่ขนถ่ายลงท่าเรือแหลมฉบัง แต่ตู้ดังกล่าววเป็นตู้ที่จะทำการขนถ่ายลงท่าเรือ Unithai  

ความคืบหน้าล่าสุด  (As of 30 May 2019)

  1. สายเรือ KMTC Hong Kong ได้ประกาศให้ตู้สินค้าที่ค้างอยู่บนเรือจำนวน 246 ตู้ต้องเฉลี่ยความเสียหายร่วมกัน หรือ General Average (GA) และให้ผู้นำสามารถดำเนินการเคลียร์ตู้สินค้าออกไป โดยอยู่ระหว่างประสานกับเจ้าของสินค้าให้มารับทราบเรื่อง GA และดำเนินการเรื่องการวางเงินค้ำประกันต่อไป 
  2. ขณะนี้ท่าเรือ B3, B4, B5 และ A3, A4, A5 ได้เปิดให้บริการตามปกติ สามารถนำเรือออกและเข้าได้ ส่วนท่าเรือที่อยู่ใต้ทิศทางลม ได้แก่ A0, A1, B1 และ B2 สามารถให้บริการได้ เพียงแต่ขอความร่วมมือในการตรวจสอบสิ่งของที่อยู่ใต้น้ำก่อน เพื่อความปลอดภัยของเรือ แต่สำหรับท่าเรือ A2 ได้มีการปิดให้บริการชั่วคราว จนกว่าจะแน่ใจในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย
  3. สำหรับเรื่องสภาพแวดล้อม การปนเปื้อนของน้ำ ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมควบคุมมลพิษ, กรมเจ้าท่า และ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เข้ามาดูแล และเยียวยาเพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน และบ้านเรือนข้างเคียง

ข้อเสนอแนะในการดำเนินการ

  1. หากสินค้าของผู้ประกอบการมีตารางที่นำเข้ามากับสายเรือ KMTC ในวันดังกล่าว ให้ผู้ประกอบการติดต่อสายเรือ หรือบริษัทที่รับจัดการขนส่งสินค้าที่ท่านจองระวางเพื่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับตู้สินค้า หรือประสานไปยังผู้ขายต้นทางเพื่อสอบถามสถานะของตู้สินค้าขาเข้า
  2. หากพบว่าตู้สินค้าของท่าน ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว สามารถดำเนินการดังนี้
  • หากสินค้าดังกล่าวได้ทำประกันสินค้าไว้ ให้ติดต่อบริษัทประกันเพื่อเรียกร้องความเสียหาย โดยบริษัทประกันจะเป็นผู้รับผิดชอบ  
  • แต่หากสินค้าของผู้นำเข้ามิได้ทำประกันสินค้าไว้ จะต้องประสานไปยังสายเรือ หรือ ผู้รับจัดการขนส่งสินค้า ที่ท่านจองระวางเรือเพื่อเรียกร้องความเสียหายที่เกิดขึ้น (ซึ่งการเรียกร้องจะต้องเรียกร้องเป็นทอดๆ ตามคู่สัญญาที่ระบุ)
  1. หากสินค้าของท่านได้บรรทุกมาบนเรือลำที่เกิดเหตุดังกล่าว และได้ถูกนำลงจากเรือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ประสานกับสายเรือ หรือบริษัทรับจัดการขนส่งสินค้า เพื่อติดต่อขอนำตู้สินค้าออกมาจากพื้นที่ท่าเรือ แต่หากตู้สินค้าของท่านยังคงอยู่บนเรือขณะเกิดเหตุ ให้ผู้นำเข้าติดต่อสายเรือเพื่อรับทราบการประกาศเป็น GA ของตู้สินค้านั้นๆ จึงจะสามารถนำตู้สินค้าดังกล่าวออกมาได้
  2. นอกจากนี้ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น อาจทำให้ตารางการเดินเรือ ของสายเรืออื่นๆ มีการเปลี่ยนแปลง หรือล่าช้ากว่ากำหนดการได้ เนื่องจากการท่าเรือฯ ได้ออกประกาศปิดพื้นที่ท่าเรือบาง Terminal เนื่องจากความไม่ปลอดภัย ดังนั้น ผู้ส่งออก และนำเข้าจะต้องประสานไปยังสายเรือ หรือ ผู้รับจัดการขนส่งสินค้าที่ใช้บริการ เพื่อตรวจสอบตารางเรือ และหากพบว่าสินค้าอาจจะมีความล่าช้าจะต้องแจ้งให้ลูกค้าที่ปลายทางทราบเพื่อวางแผนการขนส่งร่วมกัน หากเป็นสินค้าเร่งด่วน อาจต้องเปลี่ยนการขนส่งไปโหมดอื่น ซึ่งกรณีนี้จะต้องหารือร่วมกับลูกค้าเป็นรายกรณี
  3. สำหรับประเด็นด้านศุลกากรนั้น เนื่องจากข้อกำหนดว่าเมื่อสินค้านำเข้ามาถึงท่าเรือที่ Discharge แล้วจะต้องมีภาระภาษี ซึ่งกำหนดให้ผู้นำเข้าจะต้องชำระภาษีภายใน 30 วัน ดังนั้นจากเหตุการณ์นี้ ให้ผู้นำเข้าที่มีสินค้า Discharge ทีท่าเรือแหลมฉบัง หากไม่สามารถทำการเคลียร์พิธีการนำเข้าได้เนื่องจากสินค้าเสียหาย ให้นำบันทึกแจ้งความของสำนักงานตำรวจ ไปดำเนินการแจ้งเรื่องที่ศุลกากรก่อน เพื่อให้ทราบเรื่องว่าตู้สินค้าดังกล่าวเป็นตู้ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ มิเช่นนั้นหากเกินกว่า 30 วันแล้ว ผู้นำเข้าไม่ชำระอากร ศุลกากรจะถือว่าของนำเข้านั้นเป็นของตกค้างทันที 

ข้อเสนอแนะ สำหรับผู้นำเข้าส่งออกเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาดังกล่าวในอนาคต

  1. ผู้นำเข้า หรือส่งออกมีหน้าที่แจ้งสายเรือ เรื่องรายละเอียดสินค้าให้ถูกต้อง และครบถ้วน เพื่อสายเรือจะได้จัดเตรียมตู้สินค้า และจัดการกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องในการวางแผนการยกขน และจัดวางตู้สินค้าให้ถูกต้องตามประเภทของสินค้า เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการสำแดงข้อมูลสินค้าที่ไม่ถูกต้อง 
  2. แนะนำให้ผู้นำเข้า หรือส่งออกทำประกันภัยการขนส่งสินค้า และประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลที่สาม ในทุกช่วงการขนส่งที่สินค้าอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบ 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *