ตามที่ท่านสมาชิกได้แจ้ง ปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้า และค่าระวางเรือปรับเพิ่มขึ้น มายัง สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) นั้น ทาง สรท. ได้มีการติดตามและผลักดันการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยมีการหารือร่วมกับภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้า และค่าระวางเรือปรับเพิ่มขึ้น

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวานนี้ (วันที่ 14 ธันวาคม 2563) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมการทำงานของการท่าเรือ และจัดประชุมหารือเกี่ยวกับ ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางเรือปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย โดยคุณสมบัติ เปรมประภา รองประธาน สรท. และ คุณคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. ได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เพื่อหาแนวทางแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในที่ประชุมได้หารือถึงสาเหตุ/ปัญหาที่เกิดขึ้นและได้มีข้อสรุปในประเด็นต่างๆ ดังนี้

ข้อมูลภาพรวม

ประเทศไทยมีตู้ส่งออกประมาณ ปีละ 5 ล้าน TEUs ในขณะที่มีตู้นำเข้าประมาณ 3.5 ล้าน TEUs บริษัทเรือจึงต้องมีการนำเข้าตู้เปล่าปีละประมาณ 1.5 ล้าน TEUs/ปี

ทั้งนี้ ปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าที่เกิดขึ่นระหว่างมิถุนายน-สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา มีปริมาณตู้นำเข้าลดลง 20% โดยตู้สินค้าไปตกค้างที่สหรัฐอเมริกา และยุโรปมากกว่า 1 ล้านตู้ เนื่องจากปัญหาโควิด-19 เพราะขาดบุคลากร ทำให้ Productivity ลดลง

สรุปประเด็นปัญหา และข้อเสนอแนะ

1. การขาดแคลนตู้สินค้า

ข้อเสนอแนะ : ในที่ประชุมเสนอให้ภาครัฐมีมาตรการจูงใจในการนำตู้เปล่าเข้ายังประเทศไทยให้มากขึ้น อาทิ

  • การลดการเรียกเก็บอัตราค่าภาระภายในท่าเรือ หรือลดค่าใช้จ่าย Local Charges เป็นต้น พร้อมทั้งมอบหมายการท่าเรือฯ ไปพิจารณามาตรการเร่งด่วนระยะสั้น เพื่อลดอัตราค่าภาระของท่าเรือฯ
  • การส่งเสริมอุตสาหกรรมซ่อมตู้ในประเทศไทย

2. การขาดระวางบรรทุกสินค้า

ข้อเสนอแนะ : ให้มีการผ่อนคลายกฎระเบียบ เช่น ควรมีการแก้กฎกระทรวงเรื่องการอนุญาตให้เรือสินค้าขนาด 400 เมตร สามารถเข้าเทียบท่า จากเดิมที่อนุญาตเรือ 300 เมตร เพื่อเพิ่มโอกาสในการให้เรือสินค้าขนาดใหญ่ที่มีระวางบรรทุกมาก นำตู้เข้ามาในไทยมากขึ้น และไทยมี Space เรือในการขนส่งเพิ่มขึ้น จากเดิมที่จำกัดอยู่ประมาณ 9,000 ตู้ เพิ่มเป็น 25,000 ตู้ เป็นต้น

3. ปัญหาขีดความสามารถทางการแข่งขัน เรื่องราคาค่า Freight

  • ขอให้มีการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย ร่วมกับสมาคมต่างๆ โดยการสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองเรื่องค่าระวาง และ space commitment มากขึ้น
  • กรณีของ SMEs ที่ไม่มีอำนาจในการต่อรองกับสายเรือ ทำให้อาจจะประสบปัญหาในการจองระวางเรือในช่วงที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมฯ เป็นผู้รวบรวมปริมาณการส่งออก และหารือกับสมาคม TIFFA เพื่อสนับสนุนใช้บริการผ่านบริษัทผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) และสำหรับกรณีที่ผู้ส่งออกได้ทำการจองระวางเรือกับสายเรือ /Forwarder เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อถึงวันกำหนดส่งสินค้า หากสายเรือหรือ Forwarder ปฏิเสธ หรือไม่มีตู้สินค้าให้ตามที่ได้หารือกันไว้ สามารถทำเรื่องมายังสำนักงาน OTCC เพื่อตรวจสอบ และหากพบความผิดจริง ทาง OTCC จะใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อกำกับดูแล

ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

  • ให้มีการศึกษากรณีการเพิ่มช่องทางการส่งออกแบบไม่ใช้ตู้คอนเทนเนอร์ เช่น ใช้เรือ Bulk หรือ Conventional เพื่อเป็นทางเลือกเมื่อตู้สินค้าขาดแคลน
  • ให้มีการหารือร่วมกับผู้ประกอบการท่าเรือแหลมฉบังเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นผู้ได้สัมปทาน ในกรณีต้องมีการปรับลดค่าใช้จ่ายในการใช้บริการภายในท่าเรือ เพื่อส่งเสริมการนำตู้เปล่าเข้ามามากขึ้น

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องต่างช่วยกันเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้หน่วยงานภาครัฐอยู่ในระหว่างการพิจารณามาตรการช่วยเหลือทั้งระยะสั้น และระยะยาว ตามข้อเสนอของเอกชน ขอให้ทางบริษัทติดตามความคืบหน้าประกาศของหน่วยงานภาครัฐต่อไป ทั้งนี้ หากมีความคืบหน้า สรท.จะแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ท่านสมาชิกรับทราบต่อไปเช่นเดียวกัน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ คุณจันทนีโทร 02-679-7555 ต่อ 302 หรือ E-mail : [email protected]

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *